วัสดุมุงหลังคาในศตวรรษที่ 19-20 นานนับร้อยนับพันปีก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรม วัสดุมุงหลังคา เทคนิคการมุง และวีการติดตั้งหลังคา ยังคงรูปแบบเดิม ไม่มีการพัฒนาใด ๆ จนกระทั่งเกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรม ช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ส่งผลให้วัสดุมุงหลังคาเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่าง ต่อเนื่องและมีวิวัฒนาการที่น่าสนใจ
หินธรรมชาติ (natural stone) มนุษย์รู้จักนำหินสกัดจากธรรมชาติมามุงหลังคาตั้งแต่สมัยอาณาจักรโรมันในช่วงศตวรรษที่ 11 ชาวฝรั่งเศสได้นำหินแกรนิต หินทราย หินปูน ซึ่งเป็นวัสดุท้องถิ่นมามุงหลังคากันอย่างแพร่หลาย ประเทศในแถบยุโรป ทั้งเยอรมนี อังกฤษ ออสเตรีย ฮังการี และฝรั่งเศส ต่างก็เริ่มนำหินชนวนมาใช้เป็นวัสดุมุงหลังคาเช่นเดียวกับกระเบื้องดินเผา และยิ่งแพร่หลายมากขึ้นเมื่อมีการประกาศใช้กฎหมายอาคารเรื่องการห้ามใช้วัสดุมุงหลังคาที่ติดไฟง่าย ดังนั้นในศตวรรษที่ 19 หินชนวนจึงถูกนำมาเป็นวัสดุมุงแทนที่แผ่นเกล็ดไม้และวัสดุจำพวกหญ้าและแฝก นับได้ว่าเป็นวัสดุมุงหลังคาที่ถาวรคงทน เป็นที่นิยมในยุโรปอย่างต่อเนื่องยาวนานนับศตวรรษ การผลิตหินชนวนเพื่อมุงหลังคาได้รับการพัฒนาสู่ระบบอุตสาหกรรม ด้วยการใช้เครื่องจักร ไอน้ำในเหมืองหินซึ่งอยู่ลึกลงไปใต้ดิน การตัดแต่งหินให้ได้ขนาดก็ใช้เครื่องจักรแทนแรงงานคน
ปี ค.ศ. 1844 หินชนวนที่ผลิตจากโรงงานจึงมีขนาดมาตรฐาน สามารถขนย้ายจากเหมืองไปยังพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ ด้วยระบบขนส่งทางบกทั้งทางรถไฟและรถยนต์ที่เจริญขึ้น นอกเหนือจากการขนส่งด้วยเรือซึ่งใช้กันมาแต่เดิม ทำให้การใช้หินชนวนมุงหลังคาแพร่หลายอย่างรวดเร็วและได้รับความนิยมสูงสุดในปี ค.ศ. 1870 แต่หลังจากเกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 (ค.ศ. 1914 – 1918) การใช้หินชนวนก็ได้หยุดชุงักลงอย่างสิ้นเชิงเพราะเหมืองและโรงงานที่ผลิตหินถูกทำลาย กอปรกับบ้าเรือนได้รับความเสียหายอย่างมากจนต้อง หาวัสดุอื่นที่ผลิตได้ง่ายและรวดเร็วมาทดแทน
วัสดุมุงหลังคาเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม วัสดุที่มาจากธรรมชาติซึ่งต้องการแรงงานการผลิตสูงได้เริ่มหมดไปจากดินแดนในซีกโลกตะวันตก เนื่องตากต้นทุนการผลิตสูงและการก่อสร้างที่ต้องใช้ช่างฝีมือที่หาได้ยาก หลังคามุงด้วยหญ้าฟาง แผ่นเกล็ดไม้ และหินธรรมชาติ จึงสูญหายไปในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 20 และเริ่มใช้วัสดุประดิษฐ์ที่เลียนแบบธรรมชาติซึ่งผลิตได้ครั้งละจำนวนมากจากระบบอุตสาหกรรมมาทดแทน ต้นทุนการผลิตซึ่งต้องคำนึงถึงปัจจัยด้าน “นิเวศวิทยา (ecological factor)” ที่ส่งผลกระทบต่อกระบวนการผลิตและการช้านของวัสดุเมื่อนำไปก่อสร้าง ดังนั้นเพียงราคาวัสดุอย่างเดียวจึงไม่ใช่คุณสมบัติหลักอีกต่อไป การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเป็นบทบาทใหม่ของวัสดุมุงหลังคานับแต่คริสต์ศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมา
วัสดุมุงหลังคา ในช่วงสมัยรัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ประเทศไทยได้มีการติดต่อสัมพันธ์กับประเทศในแถบตะวันตกเป็นผลให้งานสถาปัตยกรรมได้รับอิทธิพลจากประเทศยุโรป ได้แก่ อังกฤษ ฝรั่งเศสและเยอรมัน หลังคาของานสถาปัตยกรรมในช่วงนั้นหลายแห่งมุงด้วยวัสดุที่เป็นโลหะคือทองแดง ดังปรากฏที่พระที่นั่งอนันตสมาคม จากนั้นมาการพัฒนาวัสดุมุงหลังคาจึงมีความเกี่ยวพันกับประเทศในซีกโลกตะวันตกอย่างต่อเนื่อง โลหะที่นำมาใช้เป็นวัสดุมุงที่แพร่หลาย ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 20 ได้แก่ สังกะสีและเหล็ก